top of page

Anamorphosis in [Visual Art]

จากชั้นเรียน มนุษย์กับการสร้างสรรค์ (Man&Creativity) ในบ่ายวันอังคารที่ 11 สิงหาคม 2558 โดยอ.จักรพันธ์ วลาสินีกุล เป็นวิทยากร อาจารย์ได้นำเสนอผลงานศิลปะชิ้นเอกเป็นจำนวนมาก ไล่เรียงมาตามยุคต่างๆ

จากในบรรดาภาพวาดที่อาจารย์ยกตัวอย่างมานั้น หนูประทับใจภาพวาดนี้ที่สุด คือภาพที่ชื่อ The Ambassadors โดย ฮันส์ โฮลไบน์ (Hans Holbein the Younger) เพราะเมื่อจบชั้นเรียนแล้ว ความรู้สึกหนูยังไม่จบ มันยังมีสิ่งที่ติดค้างที่ชวนให้คิดต่อ ส่วนนึงอาจเป็นเพราะหนูยังไม่เก้ทซะทีเดียว แต่จับประเด็นได้ว่าสิ่งของและรายละเอียดต่างๆ ในภาพนั้นมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ มีนัยยะซ่อนอยู่เต็มไปหมด อย่างที่นึกไม่ถึงว่ามันจะละเอียดได้ถึงขนาดนี้ เลยเป็นแรงบันดาลใจทำให้อยากที่จะหาข้อมูลและศึกษาต่อเพิ่มเติม...

ภาพนี้ถูกวาดขึ้นในปีค.ศ.1533 ซึ่งสมัยนั้นตรงกับยุคฟิ้นฟูศิลปวิทยา หรือยุคเรเนสซองส์ (Renaissance) ในทวีปยุโรป

บุคคลในภาพ คนซ้าย คือ Jean de Dinteville เป็นฑูตชาวฝรั่งเศสที่ถูกส่งตัวไปยังอังกฤษโดยกษัตริย์ Francis ที่1

และ ท่านสังฆนายก Georges de Selve คนขวา เป็นนักบวชตำแหน่ง Bishop แห่งแมือง Lavaur ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส

ในภาพนี้มีเรื่องเล่าเชิงประวัติศาสตร์ การเมือง และปรัชญาซ่อนอยู่มากมาย แต่จะขอพูดถึงเพียงคร่าวๆ เพราะเป็นสิ่งที่สามารถหาอ่านเองจากแหล่งข้อมูลอื่นได้ไม่ยาก(*) บนชั้นวางของมีทั้งลูกโลก นาฬิกาแดด อุปกรณ์วัดเวลา เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์อันเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาและเกิดขึ้นในยุคนั้น แสดงถึงความรุ่งเรืองทางปัญญาของมนุษย์ที่กล้าคิดกล้าทดลองที่แหวกออกมาจากกรอบคำสั่งสอนของศาสนาอันเป็นคอนเซ็ปต์ของยุคนี้ โดยสิ่งของเหล่านี้หากนำมาจัดประเภทได้เป็นตัวแทนของศาสตร์ 4 แขนง ได้แก่ ดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ เรขาคณิต และดนตรี หรือที่เราเรียกว่า 'Quadrivium' คือ ศิลปศาสตร์ชั้นสูงในยุคกลาง

เรื่องที่อยากจะพูดถึงในบทความนี้ดังที่จั่วหัวข้อไว้แล้ว คือ Anamorphosis... มันคืออะไร???

หากเราสังเกตภาพวาดนี้ให้ดีจะพบว่ามีวัตถุอยู่สิ่งหนึ่งที่มีรูปร่างแปลกประหลาดผิดหูผิดตาไปอยู่ชิ้นหนึ่ง

ใช่แล้ว! มันคือท่อนไม้หรือก้อนหินยาวๆ อะไรสักอย่างที่วางอยู่เฉียงๆ ตรงกลางด้านล่างของภาพ

ความจริงแล้วมันไม่ใช่ท่อนไม้ก้อนหินอะไรหรอกนะคะ แต่เป็นภาพ หัวกะโหลก ต่างหาก!?

ซึ่งหากเรามองในมิติปกติในแนวตรงแบบที่เรามองภาพวาด ก็จะพบว่ามันเป็นภาพอะไรก็ไม่รู้อย่างที่เห็นในรูปนี้

แต่จริงๆแล้ว นี่ล่ะค่ะ คือสไตล์การวาดภาพที่เรียกว่า Anamorphosis หรือ ภาพเพี้ยน นั่นเอง

การวาดภาพแบบนี้จะไม่ใช้สัดส่วนตามปกติ แต่จะเป็นสัดส่วนที่จะค่อยๆ ขยายออกไป ตามภาพทางด้านขวามือ ดังนี้

คือเราต้องมองวัตถุจากอีกมุมหนึ่งจึงจะเห็นสิ่งนั้นเป็นภาพตามปกติ ในกรณีของภาพนี้เราสามารถมองได้ 2 มุม

ไม่มองจากมุมขวาจากด้านบน ก็มองจากมุมซ้ายด้านล่าง (ถ้ายังจินตนาการไม่ออก ขอเชิญชมภาพเคลื่อนไหวค่ะ คลิก! )

.

.

ว่าแต่ ทำไม โฮลไบน์จึงต้องวาดเฉพาะภาพหัวกะโหลกในลักษณะนี้ด้วยล่ะ?

ถ้าจะใช้เทคนิคภาพเพี้ยน ทำไมไม่วาดให้เป็นแบบเดียวกันทั้งภาพเลย?

จะไปถามก็ไม่ได้ เพราะเขาก็ตายไปหลายร้อยปีแล้ว

ดังนั้นสิ่งเดียวที่เราทำได้คือการ 'ตั้งสมมติฐาน' ค่ะ

จากที่ได้ไปศึกษามา ขอสรุปย่อๆ ได้ 3 ข้อ ดังนี้

1. ภาพวาดนี้สามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วน เป็นตัวแทนของ โลกสวรรค์, โลกมนุษย์ และโลกแห่งความตาย

จากชั้นวางของชั้นบน (มีแผนที่ท้องฟ้า-celestial globe เครื่องมือดูดาว และอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้วัดวันเวลา),

ชั้นวางของชั้นกลาง (มีลูกโลก-terrestrial globe หนังสือเลขคณิต เครื่องดนตรีลูตที่มีสายขาดอยู่เส้นหนึ่ง

หนังสือเพลงสวดนิกายลูเธอร์แลนด์ที่แปลจากภาษาละติน) และชั้นล่างคือพื้นที่มีหัวกะโหลก

(ข้อสันนิษฐานนี้ไม่อธิบายอยู่ดีว่าทำไมต้องวาดหัวกะโหลกในแนวเฉียง)

2. ภาพวาดนี้อาจจะตั้งใจวาดโดยมีจุดประสงค์ให้แขวนไว้บนผนัง ที่ติดกับทางเดินบันไดแนวเฉียงขึ้นทางขวา

ดังนั้นเมื่อคนเดินขึ้นหรือลงบันไดแล้วมองไปยังภาพวาด จะสามารถมองเห็นภาพหัวกะโหลกแบบสมจริงได้

(เพื่อให้ผู้คนที่เดินผ่านตกใจเล่น... อิอิ :P)

3. ความเป็นไปได้อย่างสุดท้าย อาจจะไม่มีอะไรซับซ้อนเลยก็ได้

เพียงแค่โฮลไบน์ต้องการจะแสดงฝีมือทางการวาดภาพด้วยเทคนิค Anamorphosis เท่านั้น

ซึ่งการคิดค้นมุมมองแบบ Anamorphic perspective นี้ เกิดขึ้นในช่วงต้นของยุคเรเนสซองส์ (Early Renaissance)

------------

โดยส่วนตัวแล้ว คิดว่าข้อสันนิษฐานที่ 2 น่าจะสมเหตุสมผลที่สุด แต่ก็ไม่อาจสรุปได้

ก็เลยอยากจะฝากข้อคิดถึงทุกท่านที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ค่ะ ว่า.. เรื่องบางเรื่อง

เราสามารถมองได้หลายแบบจากหลายมุมมองก็จะเห็นความจริงต่างกันถึงแม้จะเป็นเรื่องเดียวกัน

(ดังตัวอย่างชัดเจนจากภาพวาดนี้) ดังนั้น การตัดสินใจเชื่อว่าสิ่งไหนถูกต้องที่สุด อาจทำไม่ได้ในความจริง

"เพราะความเห็นของเราที่เราคิดว่าจริงที่สุด สำคัญที่สุด อาจเป็นเรื่องไร้สาระที่สุดสำหรับอีกคนก็ได้ "

จึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นและควรเปิดใจให้กว้าง รับฟังความเห็นที่หลายหลายต่างมุมมองจากคนอื่นบ้าง

... แต่ไม่ต้องไปตัดสินว่าถูกหรือผิดค่ะ!

________________________________

(*) แหล่งข้อมูลสำหรับศึกษาเพิ่มเติม ขอแนะนำเว็บไซต์นี้ เขียนโดย Claire

ชื่อบทความ Holbein’s The Ambassadors: A Renaissance Puzzle? มี 3 พาร์ท


bottom of page