" คำว่า 'ไม่มีอะไร' นั่นคือ... 'ไม่มีอะไรน่าเกลียด' "
กล่าวโดย อ.สันติ ลอรัชวี Designer of the year 2015 วิทยากรรับเชิญในหัวข้อ Graphic Design ถึงแนวคิดในการออกแบบโปสเตอร์ของวงดุริยางค์เยาวชนสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา (PYO) อาจารย์พูดถึงการทำงานในคอนเสิร์ตครั้งที่ 3 ในฤดูกาลที่ 2 ของวงเยาวชนฯ ซึ่งจัดแสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และเนื่องด้วยมีองค์กรร่วมในการจัดงาน จึงต้องใส่ตราสัญลักษณ์หรือโลโก้ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรมด้วย ดังภาพโปสเตอร์คอนเสิร์ตในบทความด้านซ้ายนี้
จะเห็นได้ว่าโปสเตอร์งานในครั้งนี้ออกแบบอย่างเรียบง่าย
โดยมีพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงฯ เป็นรูปวงกลมอยู่ตรงกลางด้านบน ใช้สีฟ้าเป็นสีพื้นหลัง และตัวอักษรสีขาว มีลวดลายที่พื้นหลังเล็กน้อยเพื่อให้ภาพดูมีมิติ
...ก็ดูเหมือนจะไม่มีอะไรถ้ามองผ่านๆ แต่กว่าอาจารย์จะทำงานให้มันออกมาเรียบง่ายและดูเหมือนไม่มีอะไรดังที่เห็นได้เช่นนี้ มัน 'มีอะไร' ซ่อนอยู่ในขั้นตอนเบื้องหลังมาก
เนื่องด้วยงานนี้เป็นคอนเสิร์ตเพื่อรำลึกถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงฯ จึงต้องการให้พระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่านเป็นจุดเด่น ดังนั้น การจัดการกับองค์ประกอบอื่นๆ ที่เหลือจึงต้องไม่ทำให้มันดึงความสนใจไปจากรูปของท่านมาก รวมไปถึงชื่อคอนเสิร์ต และรายละเอียดงาน ภาพศิลปิน ก็ต้องจัดลำดับให้เหมาะสม โดยเฉพาะกับตราสัญลักษณ์ขององค์กรร่วมด้านล่าง อาจารย์ปรับมันให้เป็นโทนสีขาวทั้งหมดเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับข้อความตัวอักษร
ในส่วนของตราสัญลักษณ์ของสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนานั้นไม่เป็นปัญหา ปัญหาอยู่ที่ตราสัญลักษณ์ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรมซึ่งเป็นหน่วยงานราชการของไทย และหน่วยงานราชการของไทยแต่เดิมโดยปกติก็จะมีพวกตราครุฑ พระอินทร์ขี่ช้าง พระพิรุณทรงนาค เทวดา ฯลฯ อะไรก็ตามเยอะแยะที่แสดงถึงความเป็นหน่วยงานราชการของประเทศ ซึ่งทางกรมฯ ไม่ยอมให้มีการปรับเปลี่ยนใดๆ ทั้งสิ้น
ทีนี้ก็... เอาแล้วไง! จะทำอย่างไรถึงจะจัดการกับจุดเล็กๆ ด้านล่างของโปสเตอร์ไม่โดดออกมาจนทำลายความสมดุลของภาพ ครั้นจะทำกรอบสีขาวล้อมรอบเพิ่มมาแล้วก็จะยิ่งแย่ไปกันใหญ่ มันจะกลายเป็นจุดสนใจทันที (ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ต้องการ) เอาไงดีล่ะเนี่ย... เมื่อสถานการณ์เป็นอย่างนี้ อาจารย์จึงแก้ปัญหาโดยทำโปสเตอร์ไป 2 เวอร์ชัน เวอร์ชันแรกที่โลโก้ของกรมฯ เป็นแบบดั้งเดิมส่งให้กับทางศูนย์วัฒนธรรม และทำโปสเตอร์อีกเวอร์ชันออกมาแบบที่ปรับแล้วเพื่อใช้จริงในการโปรโมตในสื่อออนไลน์ :O
ดังที่ได้เห็นเป็นที่ประจักษ์กันแล้ว บางทีผลงานสุดท้ายอาจไม่ได้ทำออกมาได้ง่าย แต่มีกระบวนการทำงานเบื้องหลังที่ยากลำบากและน่าปวดหัวที่เราไม่รู้อยู่ด้วย ตัวงานนั้นอาจผ่านการคิดใหม่ ปรับใหม่ แก้แล้วแก้อีก และบางทีทางผู้ออกแบบก็ไม่ได้ทำออกมาเพียงรูปแบบเดียว อย่างที่อาจารย์นำภาพโปสเตอร์หลายๆ แบบของคอรเสิร์ต PYO ออกมาให้ดูเป็นตัวเลือกว่ากว่าที่จะออกมาเป็นแบบสุดท้าย ทางสถาบันและสตูดิโอต้องผ่านการคิด พิจารณา และการตัดสินใจร่วมกันอย่างหนักหนากว่าจะสำเร็จออกมาเป็นตัวงานสุดท้ายที่พวกเราเห็นกัน
และเช่นกัน สำหรับคอนเสิร์ตนี้ก็ไม่ได้มีโปนเตอร์ในการประชาสัมพันธ์เพียงแค่แบบเดียว แต่จะมีความหลากหลายดังเช่นอีก 3 ตัวอย่าง เป็นโปสเตอร์งานในแนวนอน ทั้งแบบแสดงถึง Theme งานคือ American in Paris ธรรมดา, แบบเป็นรูป conductor และ soloist ตามลำดับ (รูปภาพประกอบบทความนำมาจากเพจของวงดุริยางค์สถาบันฯ)
See more about Thai logos: